เรามักได้ยินเรื่องราวน่าทึ่งของคนดังหลากหลายคนอย่างที่เราคิดไม่ถึง
“ธนินท์ เจียรวนนท์” ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ร่ำรวยติดระดับมหาเศรษฐีของโลก มีอีกเสี้ยวมุมเล็ก ๆ ในโลกส่วนตัวที่น่าค้นหายิ่ง
ในโอกาสครบรอบ 15 ปี การจัด “มหกรรมไก่ชน”ขึ้นที่ศูนย์วิชาการและสาธิตพันธุ์ไก่พื้นเมือง ต.ท่าบุญมี อ.เกาะจันทร์ จ.ชลบุรีเมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่าน
ซึ่งทางซีพีได้จัดให้มีตลาดนัดสินค้า การประกวดไก่ชนสวยงามชิงแชมป์ประเทศไทย การแข่งขันกีฬาไก่ชนแบบไฟท์เตอร์ การแข่งขันกีฬาไก่ชนสมัครเล่น การแข่งขันกีฬาไก่อาชีพเงินล้านฯ
ชอบเลี้ยง“ไก่ชน”เป็นชีวิตจิตใจ
“ธนินท์”ในวัย 72 ปีที่มาพร้อมกับเสื้อสีส้มและหัวเข็มขัดรูปไก่ได้มาบอกเล่าอย่างเป็นกันเองถึงความผูกพันกับไก่ชนให้ฟังว่า ผมชอบไก่ชนพื้นเมืองของไทยมาตั้งแต่อายุ 9ขวบแล้ว ผมชอบเลี้ยงไก่เป็นชีวิตจิตใจ ไก่ชนของไทยเวลายืนมีลักษณะสง่า เข้มแข็ง เจ้าเนื้อ ถ้าปล่อยตามธรรมชาติเวลาเดิน ท่าทางสง่า พวกผมชอบ ดูได้ทั้งวัน
ผมซื้อไก่ตัวแรกตอนอายุ 11 ขวบ ตอนนั้นผมอยู่ต่างจังหวัดอยู่โรงเรียนประจำที่อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี นำเงินแต๊ะเอีย หรืออั่งเปาที่ได้รับในวันตรุษจีนไปซื้อ โดยชาวบ้านจะเอาไก่มาขาย เราก็ไปคัดเลือกเอาไก่ตัวสวย ๆ มา แต่ไม่มีที่เลี้ยง เพราะไปเรียนโรงเรียนประจำเลยนำไปฝากไว้ที่บ้านครู ครอบไว้ เลี้ยงมาได้ประมาณสัปดาห์ก็ตาย
ผมกับวัลลภ(คุณวัลลภ เจียรวนนท์ รองประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งมีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องของธนินท์ ) ชอบตีไก่กัน พอตีรู้ว่า แพ้ก็จับให้หยุดเลยให้มันเจ็บน้อยลง ผมเสียดาย ผมถึงเสนอความคิดว่า ในสนามชนไก่ให้นำนวมมาใส่ และให้คะแนนให้มันเจ็บน้อยลงให้เล่นเป็นกีฬา
มีบางคนมองว่า กีฬาไก่ชนเป็นการทรมานไก่นั้น เพราะคนไม่เข้าใจ ไก่ชนเวลาไก่ตัวนั้นไม่ยอมชน เราไปสั่งไม่ได้ ถ้าจะแพ้แล้ว จับให้ไก่ชนกันอย่างไร ไก่ตัวนั้นก็ไม่สู้ เราบังคับไก่ไม่ได้
หากเปรียบเทียบกับกีฬาต่อยมวยของคน ถามว่า ทรมานหรือไม่ ถ้ามวยไม่ทรมาน ไก่ชนยิ่งไม่ทรมาน คนเจ้าของค่ายมวย สั่งให้ต่อยให้ชนะให้ เราบังคับคนได้ แต่ไก่ฟังภาษามนุษย์ไม่เป็น ปล่อยลงไป ถ้าไก่ตัวนั้นไม่สู้ ไก่จะหนีเลย ไม่ต้องเจ็บตัว ที่ตีกันเพราะเขาพร้อมใจจะสู้กัน
สมัยก่อนการตีไก่ ถูกกล่าวหาว่า เป็น“บ่อนตีไก่” แต่ผมมองว่า สนามชนไก่เปรียบเหมือนตลาดหลักทรัพย์ โดยวิธีการในตลาดหลักทรัพย์ เจ้าของหุ้นคือบริษัทขนาดใหญ่ นักการพนันคนที่มีเงินก็มาซื้อหุ้นขายไปขายมา เก็งกำไร
แต่ที่สนามไก่ชน เจ้าของไก่ คือ เกษตรกร เวลามาตีคนที่มีเงินก็มาเล่นการพนัน มีคนเสีย กับมีคนได้ แต่เกษตรกรได้แน่อน เพราะไก่ตัวไหน ตีชนะสามารถขายไก่ตัวนั้นได้เงินเป็นพัน เป็นหมื่นเป็นแสนบาท ตัวเกษตรกรเองมีเงินที่ไหนมาเล่นมากมาย
ผมเองมีเล่นพนันไก่ชนบ้าง แต่ผมพนันน้อย เล่นสนุก ๆ ครั้งละเป็นหมื่นบาท ถึงเล่นเป็นแสนสุดท้ายได้เสีย ก็เป็นหมื่นบาท มีคนบอก คุณธนินท์ออกตัวเร็ว แต่ใจผมพอเห็นไก่ตัวที่จะแพ้ ก็สงสารไปเล่นตัวแพ้ พวกที่เป็นเซียนไก่ เขาเล่นตัวที่ชนะ เงินนี้ไม่ได้ทำให้ไก่ชนะได้ ตัวไก่เองที่ชนะ ผมเองยังไม่เก่งพอ ผมยังดูไก่ตัวไหนชนะยังไม่ค่อยเป็นเท่าไหร่
โดยพันธุ์ไก่ชนที่มีชื่อเสียงของไทย คือ “พันธุ์เหลืองหางขาว” เป็นไก่พันธุ์ของไทยตัวแรกที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชนำไปตีชนะพม่า เรียกกันว่าเป็น “ไก่กู้เมือง” สมัยโบราณกิจกรรมบันเทิงของพระมหากษัตริย์ คือ การนำไก่มาตีกัน
ตอนนี้ผมทำธุรกิจไม่มีเวลาเลี้ยงไก่แล้ว ก็ส่งเสริมให้ชาวบ้านเลี้ยงแทน แต่ผมมีไก่ตัวโปรดที่มีคนช่วยดูแลอยู่หลายตัว เช่น"เทาสายฟ้า"ชนะมาแล้ว 5 ไฟต์รวด เป็นต้น
หลงเสน่ห์“นกพิราบ”ก่อนเข้าสนามไก่ชน
นอกจากการเลี้ยงไก่ชนแล้ว ผมชอบเลี้ยงนกพิราบด้วย นกพิราบพอปล่อยออกไป มันบินกลับมา แล้วการเลี้ยงนกพิราบก็เพลินเหมือนกัน เราต้องมาเพาะผสมพันธุ์เอง เลี้ยงลูกนกตั้งแต่เกิด 6 เดือนก็เริ่มแข่งได้แล้ว การเลี้ยงไก่ชนยังไม่ได้ใกล้ชิดเท่านก ปล่อยไปวิ่งไปเล่นไปนอนบนต้นไม้
นกพิราบเลี้ยงในกรง เช้า-เย็นก็จับมาดู จะสนิทกับคน ถ้าเลี้ยงดี ๆ นกพิราบจำคนได้ ถ้าเลี้ยงดี ๆ ทุกวัน เขาจะจำคนได้ บินมาเกาะ สื่อสารกับคนเข้าใจ เพียงแต่พูดไม่ได้ นกฉลาดกว่าไก่ แต่ไก่ก็จำคนได้ ถ้าหากใครเลี้ยง หากปล่อยออกมาจะเดินตามเลย
นกพิราบจะไม่เหมือนไก่ เขาจะจับคู่กัน จะไม่แยกกัน คู่ใครคู่มันเหมือนคน กิริยาเหมือนคน เวลานี้ผู้เชี่ยวชาญการเลี้ยงไก่ของผมคนหนึ่ง กลายมาเป็นผู้เชี่ยวชาญการเลี้ยงนกจนได้แชมป์ แต่ไก่ยังไม่ได้แชมป์ แต่นกพิราบได้แชมป์
ผมเคยเลี้ยงนกพิราบหลายร้อยตัว ผมสร้างกรงนก 3 ชั้น ข้างล่างเป็นที่จอดรถ สมัยนั้นที่ผมสร้างกรงนกในประเทศไทยยังไม่มีการเลี้ยงนกพิราบเลย นกพิราบผมนำเข้ามาจากเบลเยี่ยม เช้าไปให้อาหาร เย็นเลิกงานก็ไป ถ้ามีเวลาก็ไปนั่งในกรงนกทั้งวันดูเพลิน แต่ตอนนี้ไม่ได้เลี้ยงแล้ว ผมเป็นภูมิแพ้นกพิราบ จับแล้วมีฝุ่น แต่ถ้าอยากดูก็ให้คนไปจับมา
ผมชอบเลี้ยงไก่มีเชื้อมาจากคุณพ่อ เวลานี้ลูกผมมีคนเดียวที่ชอบนกพิราบ คือ คุณณรงค์ (นายณรงค์ เจียรวนนท์ รองประธานของเจียไต๋) ชอบเลี้ยงนกพิราบ ตอนเล็ก ๆ ไปดูกรงนกพิราบถามว่า ปาป๊าทำไมนกมันตาหวาน ชอบตั้งแต่เด็ก ๆ อย่างนี้สอน หรือถ่ายทอดไม่ได้ เป็นเรื่องที่ติดมากับตัว ลูกชายผมเก่งกว่าผม
ผมชอบเลี้ยงนก ชอบซื้อนก แต่ลูกชายผมไม่ใช่ ถ้าลูกผมไปพบตัวเก่ง ๆ เขาซื้อ 1-2 ตัว แล้วนำมาผสมพันธุ์ จับตัวนี้เข้ากับตัวนี้ ลูกหลานนกที่ออกมาเก่งมากจนมีชื่อเสียงในเมืองจีน ลูกใช้เงินน้อยกว่าผมมาก นกของผมก็ให้เขาจับผสม
มีหลานชายผมอีกคน เป็นลูกชายของลูกพี่ลูกน้องผม คนหนึ่งอยู่ปักกิ่ง อีกคนหนึ่งอยู่เซี่ยงไฮ้ เราได้เปรียบอย่างหนึ่ง โลตัสที่เซี่ยงไฮ้ เราไปเลี้ยงนกบนหลังคาได้
คนเลี้ยงนกพิราบถ้าเจอกัน ฝอยกันทั้งวันทั้งคืน คุยกันไม่จบจนเข้านอน คุยโม้กันว่า ของผมเก่งยังไง มีเรื่องมาแลกเปลี่ยนกัน คุยกันมากกว่าการเลี้ยงไก่ อย่างประเทศไต้หวันมีการเล่นพนันกันสูง จนสุดท้ายรัฐบาลไม่กล้าปิด เพราะแม่บ้านชอบมาก สนับสนุนสามีเลี้ยงนกพิราบ พอเลิกจากงานกลับบ้านเลยดูแลแต่นก
ลุยเปิดสนามชนไก่ทั่วไทยดันโกอินเตอร์
ธนินท์บอกว่า ในสมัยโบราณมีคำพูดที่ว่า “ช้างคู่เมือง ไก่คู่บ้าน”ทุกบ้านต้องเลี้ยงไก่ ไว้กินไข่ กินเนื้อ ไก่ชนที่ชาวบ้านเลี้ยงกันทุกวันนี้ถือเป็นพันธุ์ไก่เนื้อดั้งเดิมของไทยที่เราต้องอนุรักษ์ไว้ ให้อยู่คู่กับคนไทย ตัวเก่งนำไปตีชนะก็มาขายได้เป็นหมื่นเป็นแสนบาท ดีกว่าไปซื้อล็อตเตอรี่ ไม่ต้องไปเล่นหวยใต้ดินมีแต่เสีย เลี้ยงไก่มีแต่ได้ บางคนบอกว่าการเลี้ยงไก่ชนใต้ถุนบ้าน “เปรียบเหมือนตู้เย็นเคลื่อนที่”สมัยโบราณไม่มีตู้เย็นก็ทยอยเชือดไก่ใต้ถุนบ้าน
ซีพีส่งเสริมการเลี้ยงไก่ เมื่อเลี้ยงได้ผลผลิตแล้วไปขายที่ไหน เราต้องสร้างตลาดครบวงจร เลยสร้างสนามชนไก่เป็นที่ขายของของเกษตรกร แต่ถ้าไม่มีสนามชนไก่ มูลค่ามันจะไม่เกิด และก็กลายเป็นสถานที่ทำกิจกรรมบันเทิง สัปดาห์หนึ่งมาที่สนามชนไก่ เพื่อความสนุกสนาน แล้วเกษตรกรก็มาแลกเปลี่ยนความรู้กัน เช่น ทำไมถึงขายไก่ชนได้ราคาเป็นหมื่น มีวิธีการเลี้ยงอย่างไร จะกระตุ้นให้กลับไปเลี้ยง ธุรกิจไก่ชน ขายไม่ได้ ไม่เน่าไม่เปื่อย
ผมจึงมีนโยบายจะขยายสนามชนไก่ไปยังทุกจังหวัด เพื่อส่งเสริมให้มีกีฬาชนไก่เป็นสิ่งถูกกฎหมาย มีระเบียบ มีกติกา ไม่ให้เขาเอารัดเอาเปรียบคนที่มาตีไก่ ไม่โกงกันเป็นที่มาสนุกสนานบันเทิงของเกษตรกรสัปดาห์หนึ่งมาที่สนามชนไก่ครั้งหนึ่งมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ความรู้ กระตุ้นให้ไปเลี้ยงไก่ เลี้ยงแล้วขายไม่ได้ ก็เป็นอาหารโปรตีน ลดรายได้ เท่ากับเพิ่มรายได้
ที่ผ่านมามีหลายประเทศให้ความสนใจพันธุ์ไก่ชนของไทย ทั้งญี่ปุ่น อินโดนีเซีย อินเดีย ปากีสถาน บาเรล ประเทศอิสล่ามตีไก่กันมากที่สุด โดยมีมูลค่าการส่งออกนับร้อยล้านบาท แต่หลังจากเกิดการระบาดของโรคไข้หวัดนก ทางรัฐบาลไทยไม่ให้ความสนใจ จึงเป็นเรื่องน่าเสียดาย เวลานี้มีการลักลอบขายกันไปทางใต้ ผ่านเข้าทางประเทศมาเลเซีย ไปถึงอินโดนีเซีย หากมีการเปิดเสรี และรัฐบาลไทยเอาจริงเอาจัง เราสามารถจะขายพันธุ์ไก่ชนไปยังทุกประเทศในอาเซียน
ผมมองว่า ในอนาคตประชาชนไทยจะร่ำรวยกว่านี้ เพราะคนจะนิยมกินไก่พื้นบ้านกันมากขึ้น แล้วไก่ชนเนี่ยแม้ราคาแพงกว่าไก่เนื้อทั่วไปหลายเท่าคนที่ร่ำรวยก็จะซื้อ
ยกตัวอย่าง ประเทศญี่ปุ่นประเทศที่มีความเจริญทางด้านเทคโนโลยี แต่คนทำนาจะต้องมีไก่ชนเลี้ยง ทุกหมู่บ้านจะมีสถานที่สำหรับไว้ตีไก่ ขณะที่รัฐบาลญี่ปุนจะจัดสนามชนไก่ โดยได้นำสายพันธ์ของไทยไปพัฒนา ปรากฎว่า สามารถเลี้ยงได้ ทุกหมู่บ้านที่ญี่ปุ่นมีสนามตีไก่ แล้วรัฐบาลญี่ปุ่นจัดสนามชนไก่ประกวด
ญี่ปุ่นพัฒนาน้ำหนักไก่ของไทยจาก 3 กิโลกรัม ขึ้นไปถึง 7 กิโลกรัมแล้ว ตัวใหญ่ขึ้น ๆ การอนุรักษ์ไก่มีค่ากว่าสัตว์ทุกชนิด ไก่ชนเราสืบพันธุ์ได้ ญี่ปุ่นยังซื้อไก่ชนของไทยไปชน เรียกว่า “ไก่สยาม”
อย่างไรก็ตาม นายธนินท์กล่าวทิ้งท้ายว่า เราทำธุรกิจได้กำไรจากไก่ เราอยากคืนให้สังคม ให้กับคนยากจนที่ไม่มีโอกาส ใครเลี้ยงไก่หรือเลี้ยงนก ยิ่งวัยรุ่นเลี้ยงไก่หรือนก รับรองไม่ติดยาเสพติด พอเลิกจากโรงเรียนต้องมาเลี้ยงไก่ ต้องอาบน้ำให้ไก่ คนเลี้ยงไก่ รักไก่ยิ่งกว่าลูก บางคนไม่เคยอาบน้ำให้ลูก แต่อาบน้ำให้ไก่ เช้า-เย็น ไม่เคยกางมุ้งให้ลูก แต่ต้องก้างมุ้งให้ไก่ทุกวัน
วันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2555 เวลา 21:15:55
ที่มา:
มติชนออนไลน์