ผมเจอกับไข้หวัดนกในไก่ชนเกือบทุกปี 4-5 ปีแล้ว ก็พอแก้ไขได้ไก่ตายไม่เกินครึ่ง ปีนี้ก็เจอไก่ตายไปประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ จึงอยากบอกพวกเราชาวไก่ชนเผื่อใครไม่รู้จะทำอย่างไรจะได้ลองเอาไปใช้
1. ไก่ที่อาจเป็นโรคหวัดนกโปรดสังเกตเมื่อไก่ในละแวกบ้านเริ่มตาย หรือมีการนำเป็ดไล่ทุ่งมาปล่อยข้างบ้าน หรือมีนกอพยพเป็นฝูงมาหากินใกล้ ๆ
2. อาการไก่เป็นไข้หวัดนก ไก่จะหงอยซึม ขนหัวหยอง ถ้าจับตัวจะอุณหภูมิสูงผิดปกติ ถ้าเลือดออกปากออกตาก็หวัดนกชัดเจน และจะตายไวมากไม่เกิน 1 วันหลังแสดงอาการ ไก่มักจะมีหงอนและหัวบวมดำคล้ำ อาจมีเลือดไหลจากปากกองอยู่บริเวณที่ตาย บางตัวอาจยังมีข้าวเต็มอยู่ในกระเพาะ
3. ควบคุมโดยการขังแยกกันให้มากที่สุด นำไปใส่สุ่มหรือกรงขังไว้กลางแดดอย่างมากสุ่มละ 3-4 ตัว หากระสอบหรือผ้าบังแดดแล้วใช้มุ้งคลุม คอยให้ข้าวน้ำทุกวัน ไม่เกิน 3 วัน ถ้าสุ่มไหนตายแสดงว่ามีไก่ติดเชื้อ ก็คอยเอาไปฝังจนกว่าจะตายหมดสุ่มหรือไม่มีไก่ตายอีกใน
ช่วง 3 วัน สุ่มนั้นก็น่าจะปลอดภัย แต่การขังสุ่มอย่างนี้ควรขังอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ก็จะพอรู้ได้ว่าไก่ตายและเหลือเท่าไร และที่สำคัญคือต้องขังทั้งหมดอย่าให้มีไก่เดินเพ่นพ่านในช่วงควบคุมโรค ไม่เช่นนั้นโรคจะยืดเยื้อไม่จบสิ้น และห้ามย้ายไก่จากสุ่มหนึ่งไปอีกสุ่มหนึ่งเด็ดขาด
4. หลังกักไว้ 2 สัปดาห์ก็สามารถปล่อยไก่ได้ตามปกติ แต่สำหรับส่มที่มีไก่ตายอย่าเคลื่อนย้ายสุ่ม ควรเปิดให้ตากแดดเต็มที่อย่างน้อย 2 สัปดาห์เช่นกัน หรือหากไม่สามารถตากแดด ก็ต้องใช้ยาฆ่าเชื้อราดบริเวณพื้นสุ่มที่มีไก่ตาย น้ำของไก่ต้องเปลี่ยนไหม่และอาหารเดิมที่ตกเรี่ยราดควรฝังหรือเผา
5. ไม่ควรนำไก่มารับประทานหรือนำไปขายในช่วงที่เป็นโรคระบาด แล้วต้องระมัดระวังตัวเองตามคำแนะนำของปศุสัตว์หรืออนามัยครับ
6. ไก่ที่นอนอยู่เล้าหรือกรงเดียวกันมีโอกาสที่จะติดเชื้อสูงกว่าไก่ที่กินอาหารร่วมกัน (ผมเคยส้งเกตจากเลี้ยงไก่โดยปล่อยหากินด้วยกัน แต่นอนต่างเล้าและเล้าห่างกันประมาณ 10 เมตร เล้าหนึ่งตายเรียบอีกเล้าหนึ่งเมื่อควบคุมเสร็จตายเล็กน้อย)
หวังว่าพวกเราหากเจอปัญหาไข้หวัดนกคงพอบรรเทาได้บ้างนะครับ ไม่ต้องให้เขามาทำลายไก่เราจนหมดสิ้น