เมนู

การส่งไก่ชนไทย ไปต่างประเทศ

การเลี้ยงไก่ชน สัตว์เศรษฐกิจที่มาแรงขณะนี้ นอกจากตลาดในประเทศแล้วยังมีตลาดต่างประเทศอีกด้วย ตลาดต่างประเทศเป็นตลาดที่มีศักยภาพ มีแนวโน้มที่เติบโตมาก จากสถิติตัวเลขของกรมปศุสัตว์ ระบุว่า ปี ค.ศ.1999 มีการส่งไก่ชนไทยไปต่างประเทศตลอดทั้งปี รวม 3,628 ตัว( คงไม่นับรวมที่เดินข้ามแถบชายแดน) เป็นมูลค่าเท่าไรก็ต้องประมาณการเอาเอง ประเทศที่ส่งไปนั้นจากรายงานของกรมปศุสัตว์เช่นกันแจ้งว่าเมื่อปี 1999 มีการส่งไก่ชนไทยไป อินโดนีเซีย ( 3,513 ตัว ) บรูไน ( 26 ตัว ) กัมพูชา ( 20 ตัว ) สหรัฐอเมริกา (6 ตัว ) ฯลฯ ผู้ค้ารายใหญ่คงไม่มีปัญหาสำหรับการส่งออกหรือนำเข้า แต่รายใหม่รายย่อยหรือผู้สนใจอยากส่งไก่ไปขายเมืองนอก หรือสั่งไก่ชนจากต่างประเทศเข้ามาบ้างนั้นคงต้องศึกษาหาวิธีก่อน เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ท่านผู้อ่านจึงขอนำระเบียบของกรมปศุสัตว์เกี่ยวกับการส่งสัตว์ไปต่างประเทศ และการนำเข้ามาเสนอให้ทราบกันเพื่อเป็นแนวทางสำหรับผู้สนใจ

การนำออกสิ่งมีชีวิต

การดำเนินการล่วงหน้า

ผู้ขออนุญาตนำสัตว์มีชีวิตไปยังประเทศใด ให้ติดต่อกับประเทศนั้นเพื่อขอทราบเงื่อนไข (Requirement) การนำสัตว์มีชีวิต เข้าประเทศนั้น ผู้ขออนุญาตฯ นำเงื่อนไข (Requirement) ที่ได้รับมาขอคำแนะนำจากสัตวแพทย์ด่านกักกันสัตว์ระหว่างประเทศประจำท่าออกที่ จะนำสัตว์ออก เพื่อเจ้าหน้าที่สัตว์แพทย์จะได้ดำเนินการตรวจสอบโรคสัตว์ ตรวจสอบฟาร์มเลี้ยงสัตว์และอื่น ๆตามเงื่อนไขที่ประเทศปลายทาง กำหนดให้ถูกต้องเรียบร้อยตามความประสงค์ของประเทศปลายทางนั้น ผู้ขออนุญาตยื่นคำร้องขอนำสัตว์ออกนอกประเทศด้วยตนเอง ไม่น้อยกว่า 15 วัน ก่อนนำออก ตามแบบฟอร์มที่กรมปศุสัตว์กำหนด ณ ด่านกักกันสัตว์ระหว่างประเทศประจำท่าออกนั้น พร้อมสำเนาบัตรประจำตัว หากไม่สามารถติดต่อด้วยตนเองได้ ให้ทำหนังสือมอบอำนาจพร้อม แบบสำเนาบัตรประจำตัวของผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบมาด้วย ในกรณีที่สัตว์จะนำออกได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคระบาด หรือได้รับการทดสอบโรคระบาดแล้ว ให้ผู้ขออนุญาตนำหลักฐานการฉีด วัคซีน หลักฐานการทดสอบโรค มาแสดงประกอบขณะยื่นคำร้องต่อสัตวแพทย์ประจำด่านกักกันสัตว์ เพื่อพิจารณาอนุญาตนำออกราชอาณาจักรด้วย ผู้ขออนุญาตนำสัตว์ออกนอกราชอาณาจักรเพื่อการค้า ให้แนบสำเนาใบอนุญาตทำการค้าสัตว์ตามแบบฟอร์มของกรมปศุสัตว์ และแนบ ใบแสดงราคาสัตว์มาด้วยทุกครั้ง ผู้ขออนุญาตนำสัตว์ออกนอกราชอาราจักรต้องเขียนชื่ผู้ส่งออกและผู้รับปลายทางเป็นภาษาอังกฤษให้ถูกต้องตรงกับเอกสารต่าง ๆ โดยเฉพาะหนังสือเดินทางเพื่อเจ้าหน้าที่ใช้ประกอบในการพิจารณาออกใบรับรองสุขภาพสัตว์

การดำเนินการช่วงนำออก

เจ้าหน้าที่สัตวแพทย์จะออกหนังสือใบอนุญาตนำออกฯ (แบบ ร.9) และหนังสือรับรองสุขภาพสัตว์ ( Health Certificate) ฉบับภาษา อังกฤษให้ผู้ขออนุญาตนำสัตว์ออกนอกราชอาณาจักรทุกครั้ง เพื่อให้ผู้ขออนุญาตนำไปแสดงต่อสัตวแพทย์ด่านกักกันสัตว์ (ท่าเข้า) ของประเทศปลายทาง ผู้ขออนุญาตนำออกต้องติดต่อเจ้าหน้าที่สายการบิน หรือเจ้าหน้าที่เรือสินค้า และเจ้าหน้าที่ศุลกากรด้วยตนเอง โดยนำเอกสารหนังสือใบ อนุญาต (แบบ ร.9) ของกรมปศุสัตว์ไปแสดง ผู้นำสัตว์ออกนอกราชอาณาจักรต้องเสียค่าธรรมเนียมใบอนุญาตนำออกฯ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามความในพระราชบัญญัติ โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2499

ขั้นตอนการส่งสัตว์เลี้ยงออกนอกราชอาณาจักร

  • ยื่นคำร้องขอส่งสัตว์ออก (แบบ ร.1/1)
  • ตรวจสุขภาพสัตว์ก่อนการเดินทางไม่เกิน 2-3 วัน ด่าน ฯ
  • ออกใบอนุญาตส่งสัตว์ออก (แบบ ร.9) พร้อมเอกสารรับรองสุขภาพสัตว์ (HEALTH CERTIFICATE)

คำแนะนำ ในการยื่นคำร้องขออนุญาตส่งสัตว์ออกนอกราชอาณาจักร ควรมีเอกสารประกอบดังนี้

  • สำเนาพาสปอร์ตเจ้าของสัตว์ สำเนาบัตรประจำตัวผู้ดำเนินพิธีการส่งออก
  • สำเนาใบรับรองการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า (RABIES VACCINATION CERTIFICATE)

กรณีสุนัข แมว ส่งออก ถ้าเป็นนก หรือสัตว์ชนิดอื่น ต้องมีเอกสารรับรองการส่งออกจากกรมป่าไม้ หรือคำยินยอมให้ส่งออกได้จากเจ้าหน้าที่ด่านตรวจสัตว์ป่าท่าอากาศยานกรุงเทพฯ และหรือมีเอกสาร CITES กำกับ

การนำเข้าสัตว์มีชีวิต

การดำเนินการล่วงหน้า

ติดต่อ สอบถาม ขอคำแนะนำเบื้องต้นจากเจ้าหน้าที่สัตวแพทย์ ด่านกักกันสัตว์ระหว่างประเทศประจำท่าเข้านั้น เนื่องจากสัตว์นำเข้าต้องผ่านการกักตรวจจากสัตวแพทย์ด่านกักกันสัตว์ระหว่างประเทศ ณ คอกกักกันสัตว์ของด่าน หากผู้นำเข้าประสงค์จะกักกันสัตว์ให้เจ้าหน้าที่สัตวแพทย์กรมปศุสัตว์ตรวจรับรองความเหมาะสมให้เรียบร้อยก่อน

การยื่นคำร้องขออนุญาตนำเข้าฯ ผู้ขออนุญาตต้องดำเนินการล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วันและควรจะติดต่อด้วยตนเอง โดยยื่นคำร้องเป็นหนังสือตามแบบที่กรมปศุสัตว์กำหนด พร้อมแนบสำเนาหลักฐานบัตรประจำตัวมาด้วยทุกครั้ง ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตไม่สามารถมาติดต่อด้วยตนเองได้ ให้มีหนังสือมอบอำนาจพร้อมสำเนาหลักฐานบัตรประจำตัว ผู้มอบอำนาจแนบมาด้วยทุกครั้ง

กรมปศุสัตว์จะตรวจสอบสภาวะโรคของประเทศต้นทางจนมั่นใจว่าปลอดภัยจริง จึงออกหนังสืออนุมัติในหลักการ อนุญาตนำสัตว์เข้าราชอาณาจักรฉบับภาษาอังกฤษ (Import Permit) พร้อมกำหนดเงื่อนไข (Requirement) การนำเข้าของสัตว์นั้น

ผู้ขออนุญาตเมื่อได้รับเอกสารหนังสืออนุมัติในหลักการอนุญาตนำเข้า ฉบับภาษาอังกฤษ (Import Permit) ของกรมปศุสัตว์แล้วให้นำส่งไปยังประเทศต้นทางทันที เพื่อประเทศต้นทางจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามเงื่อนไข (Requirement) ที่กรมปศุสัตว์กำหนด (เงื่อนไขประกอบการนำสัตว์เข้าประเทศของกรมปศุสัตว์ จะปรับปรุงสม่ำเสมอ เพื่อให้เป็นปัจจุบัน และป้องกันมิให้โรคระบาดสัตว์ ทุกชนิดจากต่างประเทศเข้ามายังประเทศไทย)

ผู้ขออนุญาตต้องแจ้งเจ้าหน้าที่สัตวแพทย์ ณ ด่านกักกันสัตว์ระหว่างประเทศประจำท่าเข้านั้นทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 3 วัน ก่อนสัตว์เดินทางมาถึงเพื่อสัตวแพทย์ควบคุมรถบรรทุกสัตว์ไปยังสถานกักกันสัตว์ที่กรมปศุสัตว์กำหนด และออกเอกสารใบแจ้ง อนุมัตินำเข้า (ร.6) ให้ผู้ขออนุญาตนำไปติดต่อ ดำเนินการทางพิธีศุลกากรที่ด่านศุลกากรประจำท่าเข้านั้น สัตว์ที่นำเข้าต้องมีเอกสารหนังสือรับรองสุขภาพสัตว์ (Health Certificate) เป็นภาษาอังกฤษ ออกให้โดยสัตวแพทย์รัฐบาลผู้มีอำนาจเต็มจากประเทศต้นทาง ถ้าเอกสารรับรองเป็นภาษาอื่น ให้แปลเป็นภาษาอังกฤษ และรับรองโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลประเทศต้นทาง หรือเจ้าหน้าที่สถานฑูตประเทศต้นทาง ประจำประเทศไทย หนังสือรับรองสุขภาพสัตว์ต้องตรงตามเงื่อนไขการนำเข้าที่กรมปศุสัตว์กำหนดทุกประการ ถ้ามีหนังสือรับรองสุขภาพสัตว์ไม่ตรงตาม เงื่อนไขที่กรมปศุสัตว์กำหนด สัตว์นั้นจะไม่อนุญาตให้นำเข้าประเทศไทย สัตว์ที่นำเข้ามาทำพันธุ์ ต้องมีเอกสารหนังสือรับรองพันธุ์ประวัติ (Pedigree) แนบมาด้วยทุกครั้ง

ผู้นำเข้าต้องเตรียมสำเนาเอกสารแสดงราคาสัตว์ มอบให้เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ทุกครั้งที่นำเข้าราชอาณาจักร การดำเนินการช่วงนำเข้า ผู้นำสัตว์เข้าราชอาณาจักรที่มิใช่สัตว์พันธุ์ หรือเป็นสัตว์พันธุ์แต่ไม่มีหนังสือรับรองพันธุ์ประวัติสัตว์นำเข้าฯ ประกอบมา ผู้นำเข้าต้องเสียค่าธรรมเนียมนำเข้าราชอาณาจักรที่กำหนดในกฏกระทรวงฯ ที่ออกตามความในพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2499 และแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2542 เมื่อเจ้าหน้าที่สัตว์แพทย์ตรวจสอบเอกสารครบถ้วนแล้ว จะแจ้งให้ผู้ขออนุญาตนำเข้า นำสัตว์ไปกักตรวจ ณ สถานกักกันสัตว์ที่กำหนด

การดำเนินการหลังการนำเข้า สัตว์จะถูกนำไปกักกันดูอาการ ณ สถานกักกันสัตว์ที่กรมปศุสัตว์กำหนด ในระยะเวลาที่นักวิชาการสัตวแพทย์จะพิจารณา เพื่อให้นักวิชาการสัตวแพทย์ เก็บตัวอย่างต่าง ๆ จากสัตว์ไปตรวจทางห้องปฏิบัติการว่าปลอดโรค และผ่านพ้นระยะเวลาการกักกันแล้ว จึงจะอนุญาตเคลื่อนย้าย ออกจากสถานกักกันสัตว์ได้ โดยเจ้าหน้าที่สัตวแพทย์จะออกใบอนุญาตนำเข้า (ร. 7) มอบให้ผู้นำเข้าไว้เป็นหลักฐาน ในกรณีสัตว์ป่วย สัตว์ตาย ขณะเดินทางมาถึง หรือระหว่างกักกันดูอาการ ณ สถานกักกันสัตว์ เจ้าของสัตว์ต้องรีบแจ้งเจ้าหน้าที่สัตวแพทย์ กรมปศุสัตว์ทันที เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้ดำเนินการช่วยเหลือ ให้คำแนะนำและ เก็บตัวอย่างส่งห้องปฏิบัติการ เพื่อชันสูตรโรคต่อไป